“เลี้ยงแคคตัสริมระเบียง” กับข้อควรระวังที่ควรรู้!

เมื่อพูดถึง “แคคตัส” คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักเจ้าไม้หนามขนาดกระทัดรัดนี้ เพราะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจุบัน ด้วยลักษณะพิเศษ ขนาดต้นไม่ใหญ่มาก เลี้ยงง่าย มีให้เลือกหลากหลายสายพันธุ์ หาซื้อไม่ยาก แถมยังใช้พื้นที่น้อยในการเลี้ยงอีกด้วย ไม่ว่าจะอาศัยอยู่บ้าน หอพัก หรือคอนโด มุมนึงที่เจ้าแคคตัสมักถูกนำมาวางไว้ คือ “บริเวณริมระเบียง” ซึ่งเป็นจุดฮอตฮิตมากๆ วันนี้สวนหลังบ้านของเราเลยมีไอเดียในการจัดสรรพื้นที่อันแสนจำกัดของเรา ให้กลายเป็นสวนหรือมุมผ่อนคลายเล็กๆ รวมถึงข้อควรระวังต่างๆ ในการเลี้ยงแคคตัสริมระเบียงด้วยค่ะ

ทำไมต้องเลี้ยงแคคตัสตัสริมระเบียง? อย่างที่ผมได้กล่าวไปในเบื้องต้น เพราะเรามีพื้นที่จำกัด และบริเวณริมระเบียงนั้น เหมาะกับการปลูกพืชเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นบริเวณที่แสงแดดสามารถส่องถึง เป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเท เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชมากๆ การเลี้ยงแคคตัสริมระเบียง นอกจากจะสร้างความสวยงาม เปลี่ยนบรรยากาศให้ดูไม่น่าเบื่อแล้ว เจ้าแคคตัสยังเพิ่มความมีชีวิตชีวาสู่ห้องของเราเมื่อมองออกไปอีกด้วยฮะ  แต่การเลี้ยงแคคตัสริมระเบียงก็มีข้อจำกัดและข้อควรระวังหลายอย่างนะ เดี๋ยวเราจะพาไปดูกันทีละอย่างเลย

จุดวางไม่ดีมีสิทธิ์หล่น

สิ่งที่เกิดบ่อยที่สุดและต้องระวังที่สุดของการเลี้ยงแคคตัสริมระเบียง คือกระถางหล่นจากขอบระเบียง หรือคว่ำจนดินเลอะเปรอะเปื้อน นอกจากจะสร้างความเสียหายให้แก่แคคตัสของเราแล้ว หากหล่นลงไปด้านล่างแล้วพลาดไปโดนคน หรือรถของผู้อื่นก็อาจสร้างความปวดหัวและเกิดค่าเสียหายให้กับตัวเราได้ ดังนั้นการวางกระถางแคคตัสที่ขอบระเบียง ควรเลือกขนาดกระถางที่เหมาะสมกับพื้นที่ความกว้างของระเบียง กระถางต้องไม่ใหญ่จนเกินไป ฐานมั่นคงไม่โอนเอนได้ง่าย และเลือกกระถางที่มีน้ำหนัก เพื่อไม่ให้พลัดหล่นหากมีลมพัด

น้ำฝนชวนปวดหัว

แคคตัสต้นกำเนิดเป็นพืชทะเลทราย ไม่ต้องการน้ำในปริมาณมาก สำหรับการรดน้ำต้องการเพียง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือบางชนิดต้องการเพียง 1 ครั้งต่อ 2 สัปดาห์เท่านั้น โดยเฉพาะแคคตัสตระกูลแมมมิลาเรียที่ต้องการน้ำน้อยๆ หากปริมาณน้ำมากเกินไป อาจทำให้เจ้าแคคตัสของเราเน่าและตายได้ การให้น้ำจึงถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในการเลี้ยงแคคตัสเลยแหละค่ะ

การเลี้ยงแคคตัสที่ริมระเบียงข้อควรระวังอีกหนึ่งอย่างที่เรามักเจอกัน คือแคคตัสโดนฝน ปริมาณน้ำฝนที่สาดมาโดนแคคตัสของเราที่ตั้งอยู่บริเวณริมระเบียงบ่อยๆ อาจทำให้แคคตัสของเราเน่าได้ ในฤดูฝนจึงไม่แนะนำให้เพื่อนๆ เลี้ยงบริเวณระเบียง แต่ถ้าสามารถทำที่กั้นหรือกันสาดไม่ให้แคคตัสโดนน้ำฝนโดยตรงก็สามารถเลี้ยงได้ฮะ หรือถ้าเพื่อนๆ สามารถยกเข้าหลบฝนหรืออยู่ในตำแหน่งที่น้ำฝนสาดไม่ถึง หรือโดนละอองเพียงเล็กน้อยก็ไม่เป็นปัญหา

เจ้าแมลงที่คอยกวนใจ

อีกหนึ่งปัญหากวนใจที่เกิดขึ้นได้สำหรับการเลี้ยงแคคตัสในที่โล่ง หรือริมระเบียง คือแมลง โดยเฉพาะฤดูกาลให้ดอกของแคคตัส ที่มักจะมีแมลงหรือผีเสื้อบินวนเวียนมาชื่นชมเกสรเจ้าแคคตัสของเรา นอกจากมาเชยชมแล้ว เหล่าผีเสื้อแสนสวยเหล่านี้หากวางไข่ก็อาจเกิดเป็นตัวอ่อนของหนอนมากัดกินแคคตัสได้ วิธีป้องกันหากเป็นพื้นที่โล่งอาจทำได้ยาก สิ่งที่ทำได้ คือโรยยาชนิดกำจัดแมลงคลาน เช่น สตาร์เกิ้ลจี หรือพ่นยากำจัดแมลงเพื่อป้องกัน

สัตว์เลี้ยงแสนซน

อีกหนึ่งข้อควรระวังที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือเจ้าสัตว์เลี้ยงแสนน่ารักของเรา หากมีการเลี้ยงสัตว์ที่นิยมปีนป่าย อย่างเจ้าแมวเหมียว อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังขึ้นอีกเท่าตัว ถ้าน้องเหมียวไม่เชื่องอาจทำกระถางคว่ำหรือหล่นได้  นอกจากนี้ปัญหาที่เคยเจอประปรายคือน้องเหมียวอาจมาถ่ายในกระถางแคคตัสของเรา เพราะน้องจะมองเป็นกระบะทรายฮะ แต่หากน้องแมวเหมียวของเพื่อนๆ เชื่อง ไม่นิยมขึ้นเล่นหรือปีนป่ายกำแพง ปัญหานี้ก็หมดไป

แสงแดดที่แผดเผา

โดยปกติของแคคตัส จะมีความต้องการแสงแดดอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง และมักชอบแสงแดดในยามเช้า หากบริเวณระเบียงของเพื่อนๆ อยู่ในตำแหน่งทิศตะวันออกจะเหมาะแก่การเลี้ยงเจ้าแคคตัสมากๆ ครับ แต่หากอยู่ในทิศที่ต้องรับแสงแดดจัดๆโดยตรงตลอดทั้งวัน อาจต้องมีการพรางแสงด้วยตาข่ายสแลน ขนาด 40-50% เพื่อไม่ให้แคคตัสริมระเบียงของเราโดนแดดเผา จนทำให้ผิวของน้องเสียหรือซีดจาง อาจต้องมีการปรับสภาพของแคคตัสที่เรียกว่า “เทรนแดด” เพื่อให้แคคตัสของเราคุ้นชินกับการรับแสงแดดเป็นเวลานานต่อวัน

แสงน้อยพายืด

อีกหนึ่งปัญหาของแสงที่สร้างความไม่สมดุลให้แก่เจ้าแคคตัสริมระเบียง นอกจากแสงแดดที่มากเกินไปแล้ว ก็คือแสงแดดที่น้อยเกินไป เป็นที่รู้กันว่าแคคตัสต้องการแสงแดดอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง แต่เมื่อแสงน้อยเกินไปหรือตำแหน่งการวางแสงแดดส่องไม่ถึง แคคตัสจะมีการปรับสภาพตัวเองเพื่อเอาชีวิตรอด โดยการยืดตัวขึ้นเพื่อโน้มหาแสง เรียกว่า “ต้นยืดหรือยืดหาแสง” ซึ่งค่อนข้างแก้ไขยาก โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ชอบแสงแดด เช่น แมมมิลาเรีย ยืดแล้วยืดเลย

รู้แบบนี้แล้วเราก็สามารถป้องกันแคคตัสไม่ให้มีสภาวะยืดหาแสงได้ง่ายๆ โดยเลือกสายพันธุ์ที่ไม่ต้องการแสงแดดมาก หรือลักษณะลำต้นที่ค่อนข้างแข็ง คงรูปทรง ไม่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายเมื่อแสงน้อย เช่น ยินโนคาเลเซียม แอสโตรไฟตัม หรือเลือกวางแคคตัสไว้ที่ระเบียงในตำแหน่งที่แสงแดดส่องถึงอย่างเพียงพอ ส่วนบริเวณที่แสงน้อย อาจเลี้ยงไม้สายพันธุ์อื่นๆ ที่ชอบแดดรำไรทดแทนทีนี้สวนริมระเบียงของเราก็จะมีความ Mix&Match ด้วยต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ มองแล้วเพลิน สบายตาด้วย สบายใจด้วย

บทความแนะนำ

: “5 ไม้แขวน” เอาใจคนรักสวน ที่น้อยแค่ไหนก็ปลูกได้!!

Related Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *