4 ศัตรูตัวเป้งของกระบองเพชร

กระบองเพชร (Cactus) เหมือนจะเป็นพืชแข็งแกร่งที่ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง สามารถนำไปปลูกเลี้ยงในสภาวะอากาศ ดินและน้ำที่แตกต่างไปจากถิ่นกำเนิดได้ และอดทนต่อการขาดน้ำได้ยาวนานโดยไม่สะทกสะท้านก็จริง แต่ก็สู้ไม่ได้กับศัตรูแคคตัส 4 ชนิดนี้ ต้องยอมแพ้ไปทุกครั้งที่ได้เจอ นั่นคือ เพลี้ยแป้ง  Mealy Bug, เพลี้ยหอย Scale Insect, เพลี้ยญี่ปุ่น (Cochineal Insect) และ ไรแดง Red Spider Mites

เราซึ่งเป็นผู้เลี้ยง ควรมาสำรวจว่าศัตรูของไม้หนามที่เรารักหน้าตาเป็นอย่างไร เพื่อหาวิธีป้องกันและรักษาได้อย่างถูกต้อง

1. เพลี้ยแป้ง  Mealy Bug 

ศัตรูเบอร์หนึ่งของแคคตัสคือเพลี้ยแป้ง Mealy Bug เป็นขาประจำที่แวะเวียนมาหาไม่เคยวางเว้น เผลอเมื่อไหร่ ถ้าเห็นไม้เริ่มมีอาการตัวฟีบ โคนยุบ ให้เดาได้เลยว่าเพลี้ยแป้งเวียนมาหาอีกรอบ

เพลี้ยแป้งเป็นแมลงศัตรูพืชขนาดเล็ก ลำตัวอ่อนนุ่มปกคลุมด้วยไขมันและปุยผงสีขาว  สามารถมองเห็นได้ถ้าสังเกตดี ๆ แฝงตัวอยู่ตามตุ่มหนาม  โคนต้น  ซอกหนาม  และราก จะดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ  ทำให้กระบองเพชรหยุดชะงักการเจริญเติบโต  ต้นเหี่ยวฟีบหรือหงิกงอ ถ้าเกาะที่รากจะทำลายระบบการดูดซึมของราก ทำให้รากดูดซึมน้ำและอาหารไม่เพียงพอ ทำให้ต้นเหี่ยวแห้ง ฟีบ โคนยุบและอาจตายได้ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ 

การกำจัด  ใช้ขั้นตอนเบาไปหาหนัก ดังนี้ 

  1. คีบออกโดยใช้ฟอเซ็บ (Forcep)
  2. ใช้สายยางฉีดพ่นน้ำแรง ๆ ให้เพลี้ยกระเด็นหลุดออก
  3. ใช้ยากำจัดแมลงประเภทดูดซึม เช่น มาลาไทออน

2. เพลี้ยหอย Scale Insect  

เพลี้ยหอย เป็นแมลงปากดูด สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ลักษณะ​เป็นแผ่นกลมนูนคล้ายหัวเข็มหมุด มีสารเคมีคล้ายขี้ผึ้งสีน้ำตาลแข็งเหมือนเปลือกหอย อาศัยเกาะติดแน่นอยู่ตามลำต้นของกระบองเพชร พบมากบริเวณโคนหนาม ซึ่งเป็นจุดที่แคะออกได้ยาก จนระบาดเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ กระจายออกมาที่ผิวต้นและลุกลามไปต้นอื่นๆ 

เพลี้ยหอยจะเกาะดูดกินน้ำเลี้ยงส่วนต่างๆ ของต้น ทำให้ต้นหยุดชะงักการเจริญเติบโต และการที่มันเกาะแน่นและกระจายอยู่ทั่วลำต้น ทำให้กระบองเพชรผิวไม่สวย ถ้าเป็นมากจนลามปกคลุมไปทั่วทั้งผิวต้น อาจทำให้แคดตัสเกิดอาการซีดเหลืองขาดอาหาร อ่อนแอลงจนถึงตายได้เลยทีเดียว 

ส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นกระบองเพชรประเภทไม้ลำที่ปลูกในดินหรืออยู่ในที่ชื้นมาก ๆ เช่น คอนโดนางฟ้า หากเป็นแคคตัสที่เลี้ยงในโรงเรือนมักเกิดกับแคคตัสในตระกูลที่มีผิวเรียบมัน เช่น ยิมโน (Gymnocalycium) เมโล (Melo) ดิสโก้ (Discocactus) แอสโตร (Astrophytum) และแคคตัสตระกูล Cereus

การกำจัด  ใช้ขั้นตอนเบาไปหาหนัก ดังนี้ 

  1. แคะและคีบออกโดยใช้ฟอเซ็บ (Forcep) เพลี้ยหอยจะเกาะติดแน่นอยู่บนผิวกระบองเพชร ต้องแคะจึงจะออก
  2. ใช้แปรงสีฟันเก่าขัดออก 
  3. ใช้มีดที่ไม่มีคมขูดออกเบา ๆ ถ้าแรงจะทำให้ผิวกระบองเพชรเป็นรอยเสียหาย
  4. พ่นยากำจัดแมลงประเภทดูดซึม เช่น มาลาไธออน (Malathion) หรือนิโคตินซัลเฟต (Nicotine Sulphate) ตามอัตราที่ระบุ

3. เพลี้ยญี่ปุ่น (Cochineal Insect) 

เพลี้ยอีกชนิดหนึ่งที่แนะนำว่าควรระวังสำหรับการเลี้ยงแคคตัสคือ เพลี้ยญี่ปุ่น มีข้อมูลว่า เพลี้ยญี่ปุ่นเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งพบระบาดในวงการแคคตัสบ้านเราเมื่อไม่นาน สันนิษฐานว่าติดมาจากไม้ที่นำเข้ามาจากประเทศจีนและญี่ปุ่น มักจะเกิดกับไม้ในสกุล แอสโตร อริโอ ยิมโน เมโล 

โดยเพลี้ยชนิดนี้จะแฝงตัวอยู่บริเวณตุ่มหนามบนยอด อยู่รวมกันเป็นกระจุก ลักษณะเป็นปุยสีขาวฟูขึ้นมา ถ้าไม่สังเกตให้ดี จะคิดว่าเป็นขนที่ตุ่มหนาม (Alero) ซึ่งเป็นลักษณะปกติของแคคตัสหลายสายพันธุ์ แต่ถ้าก้อนปุยสีขาวใหญ่เร็วขึ้นอย่างผิดปกติ ให้ระวังว่าจะเป็นเพลี้ยญี่ปุ่น เมื่อลองเขี่ยดูจะพบเป็นตัวเพลี้ยสีชมพูอมม่วง ซึ่งมักอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ลักษณะการทำลายจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ยอดเสีย และไม้หยุดการเจริญเติบโต ผิวบริเวณที่ถูกทำลายจะเป็นตำหนิ มีสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ไม้จะเสียโฉม ไม่สวย แม้จะรักษาหายแล้วก็จะเป็นรอยแผลเป็น จนกว่าจะไล่ลง ซึ่งใช้เวลาหลายปี

การกำจัด 

ใช้สารป้องกันกำจัดประเภทดูดซึมพวก ไทอะมิโทแซม (Thiamethoxam) ฉีดพ่นตามอัตราที่ระบุ จะทำให้ตัวเพลี้ยเป็นอัมพาต แต่ที่ร้ายกาจคือ แม้เป็นอัมพาตก็ยังวางไข่ได้ ดังนั้นควรฉีดพ่นต่อเนื่อง 3-5 สัปดาห์

4. ไรแดง Red Spider Mites 

ไรแดงเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก สังเกตุเห็นได้ง่าย มองเห็นเป็นจุดเล็กๆ  สีแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม  จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนหรือผิวต้น โดยเฉพาะโลโฟ Lophophola ที่มีผิวอ่อนบาง ทำให้ผิวเกิดความเสียหาย และไม่สามารถกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ต้องรอไล่ลง ซึ่งใช้เวลาหลายปี 

โลโฟที่ถูกไรแดงจู่โจม ทำให้ผิวเป็นรอยคราบสีน้ำตาลคล้ายผิวไหม้ บางครั้งมีรอยล่อนเป็นแผ่นเหมือนสะเก็ดบาง ๆ ถ้าพบเห็นอาการลักษณะนี้ในโลโฟให้รู้ได้ทันทีว่าโดนไรแดงโจมตี เพื่อจะทำการจำกัดไรแดงให้เร็วที่สุด เพราะในระยะแรกความเสียหายจะไม่เป็นวงกว้างขนาดนี้ 

การกำจัด

หากเลี้ยงโลโฟ (หรือแคคตัสชนิดอื่นก็ตาม) จำเป็นที่จะต้องใช้ยาฆ่าไรแดงฉีดพ่นเป็นระยะ เนื่องจากหากเป็นแล้ว ผิวไม้ที่เสียหายไม่สามารถรักษาได้ ต้องรอไล่ลง ซึ่งใช้เวลาหลายปี ยาที่ใช้ ได้แก่ ออทุส หรือยี่ห้ออื่นที่ให้ผลไม่ต่างกัน ผสมน้ำตามอัตราส่วนที่ระบุ ฉีดพ่นติดกัน 2-3 วันครั้ง และควรฉีดพ่นทุกสองสัปดาห์ จนไม่พบการระบาด

การป้องกัน
          นอกจากการกำจัดเมื่อเกิดการรุกรานของแมลงศัตรูพืชแล้ว การระวังรักษาและดูแลบริเวณสถานที่เลี้ยงไม้ก็เป็นสิ่งสำคัญ สามารถป้องกันไม่ให้แมลงศัตรูพืชมารุกรานได้ในระดับหนึ่ง

  1. หมั่นสังเกตไม้ที่เลี้ยงว่ามีการเจริญเติบโตดีหรือไม่ ถ้าไม้ฟีบ ผิวแห้ง โคนยุบ หนามดูไม่สดใส แสดงว่าโดนโจมตีจากศัตรูพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง 
  2. เปลี่ยนดินทุก 6 เดือน การเปลี่ยนดินจะทำให้รู้ว่ามีศัตรูพืชพวกเพลี้ยแป้งซ่อนอยู่ในดินหรือไม่
  3. โรงเรือนหรือที่วางกระบองเพชรควรมีความสะอาด แห้ง ไม่ชื้นแฉะ 
  4. ระวังและสังเกต “มด” ในโรงเรือน เพราะมดเป็นตัวการสำคัญที่พาเอาเพลี้ยมายังต้นไม้ของเรา
  5. กระบองเพชรที่ซื้อมาใหม่ ควรมีการพักไม้ดูอาการว่ามีโรคหรือเพลี้ยติดมากับไม้หรือไม่ หรือเป็นไปได้ควรเปลี่ยนดิน หรือแช่น้ำยากำจัดเพลี้ยและเชื้อราก่อนนำมารวมกับไม้อื่น ๆ ในสวน
  6. ผสมยาฆ่าแมลงชนิดเกร็ดลงในดิน จะช่วยป้องกันได้ระยะหนึ่ง

แนะนำบทความเพิ่มเติม

: แต่งแต้มสีเขียวให้บ้าน: แนะนำการปลูกต้นไม้ที่เหมาะกับผู้สูงวัย

Related Posts

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *